จินตคณิต : วิธี สร้างสมาธิที่ดีให้กับลูก เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “สมาธิ” คุณพ่อคุณแม่คงทราบดีอยู่แล้วว่า การเรียนรู้ของลูกน้อยสำคัญมากขนาดไหน แต่จะทำอย่างไรเพื่อเป็นการสร้างสมาธิที่ดีให้กับลูกนั้น วันนี้เรามีวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ภายในบ้านมาฝากกันค่ะ
จัดบ้านให้เรียบร้อย
เพราะ บ้าน คือ สภาพแวดล้อมหลักที่ลูกต้องใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน การที่คุณพ่อคุณแม่จัดบ้านให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน สิ่งของจัดวางเป็นหมวดหมู่ หยิบง่าย หาง่าย ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกสามารถจัดระบบกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ดี
จัดมุมส่วนตัวให้ลูก
การที่ลูกมีมุมส่วนตัวที่ได้เล่นและได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ลูกมีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ลูกกำลังทำ หรือสนใจมากขึ้น และสามารถจัดการกับพฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น และการฝึกให้ลูกจัดเก็บของเล่น และของใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อย แบ่งหมวดหมู่ โดยให้ลูกรู้จักดูแลและจัดเก็บด้วยตนเอง เวลาจะเล่นก็ค่อย ๆ นำออกมาเล่นทีละชิ้น ก็จะช่วยให้ลูกมีสมาธิจดจ่อต่อการเล่นในสิ่งนั้น ๆ ยาวนานขึ้นอีกด้วย
สภาพแวดล้อมภายในบ้าน
พฤติกรรมของคนในบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยกันด้วยเสียงนุ่มเบา ไม่ตะโกน ก็จะช่วยทำให้บ้านเป็นสถานที่ที่ผ่อนคลาย และเงียบสงบ ในบางครั้งการที่คุณพ่อคุณแม่เอะอะโวยวาย หรือพูดคุยด้วยเสียงดังตลอดเวลา ก็จะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นเร้า และตื่นตัวตลอดเวลา ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง และขาดความอดทนจดจ่อต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว
จำกัดเวลาดูสื่อ
สื่อในที่นี่หมายถึง สื่ออิเล็กโทรนิกส์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ไอแพ็ด คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือตัวกระตุ้นให้ลูกไม่นิ่ง สายตาและสมองเหนื่อยล้า เมื่อต้องเพ่งมองหน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้ลูกไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่อได้ หากจะเล่น พ่อแม่ควรมีการจำกัดเวลา หรือให้ลูกเล่นเป็นเวลาตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน
เลือกเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน
การทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดความพยายาม และมีความจดจ่อในการทำงานนานขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกกิจกรรมง่าย ๆ เช่น ระบายสี หรือ ทำศิลปะ โดยคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนลูกให้มีความพยายามในการทำชิ้นงานนั้น ๆ แต่ในการทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ควรเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรทำ 2 อย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้ลูกขาดสมาธิ
เห็นไหมคะว่า เพียงคุณพ่อคุณแม่ให้เวลาและหันกลับมาใส่ใจต่อสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวลูก เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยเสริมสร้าง “สมาธิ” ที่ดีให้กับลูกได้แล้วค่ะ