รายงานโดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การทำงานนานตั้งแต่ 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิต จากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) เผยแพร่รายงานซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรก ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ไอแอลโอ ) เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน มีเนื้อหาสำคัญว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ประชากรโลก 745,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและความผิดปกติของระบบการทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมากถึง 55% จากเมื่อปี 2543
ทั้งนี้ หากจำแนกตามเพศพบว่า 72% ของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชายอายุตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป และอาการป่วยซึ่งส่งผลจนเกิดการเสียชีวิตเป็นภาวะสะสมที่อาจยาวนานกว่า 10 ปี ขณะที่หากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งร่วมถึงจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นพื้นที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด
อนึ่ง การจัดทำรายงานฉบับนี้การวิเคราะห์ข้อมูลจาก 194 ประเทศ สรุปว่าการทำงานต่อสัปดาห์ 55 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง 35% และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดอีก 17% เมื่อเทียบกับการทำงานเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แม้ช่วงเวลาที่มีการจัดทำรายงานยังไม่ได้เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่รายงานของดับเบิลยูเอชโอคาดการณ์ด้วยว่า วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ทำให้มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต “ตามแนวทางวิถีใหม่” รวมถึงการทำงานที่บ้าน ซึ่งก่อให้เกิดแนวโน้มของการใช้เวลาทำงานต่อวันนานขึ้น โดยดับเบิลยูเอชโอประเมินสัดส่วนประชากรโลกต้องทำงานนานขึ้นอยู่ที่ 9% ในปัจจุบัน สวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ